สายการบินโลว์คอสต์ตั๋วถูกได้อย่างไร

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 พฤศจิกายน 2556

          สมัยก่อนขึ้นเครื่องบินก็คือขึ้นเครื่องบิน ไม่มีสายการบินปกติหรือโลว์คอสต์ ซึ่งบ่อยครั้งมีราคาแตกต่างกันมากถึงแม้จะเป็นการย้ายก้อนเนื้อก้อนเดียวกันจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ก็ตาม อะไรที่ทำให้โลว์คอสต์แอร์ไลน์มีราคตั๋วถูกกว่า

          ขอเริ่มต้นด้วยการเล่าความเป็นมาก่อนเพราะมีความโยงใยกับสภาพราคาถูกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อ 40 ปีก่อนราคาตั๋วถูกเกิดขึ้นได้จากการบินประเภทที่เรียกว่าชาร์เตอร์ไฟล์ท หรือการจัดเที่ยวบินพิเศษเหมาลำ (คล้ายฉิ่งฉับทัวร์ประมาณนั้น)

          ความคิดในเรื่องการให้บริการบินชนิดไม่หรูหรา เอาแต่เนื้อ ๆ ไม่มีอาหาร เครื่องดื่มชั้นดี มีบริการเอาใจสารพัด เพื่อราคาจะได้ถูกลงมีมานานแล้ว แต่มาเกิดจริงจังเมื่อสายการบิน Southwest Airlines ของสหรัฐอเมริกาเปิดบินเป็นรายแรกของโลกในปี 1971

          โลว์คอสต์แอร์ไลน์ดังเป็นพลุเมื่อ Freddie Laker เปิดสายการบิน Laker Airways ให้บริการที่มีชื่อเรียกว่า Skytrain บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างนิวยอร์กกับลอนดอนในช่วงหลังของทศวรรษ 1970 บริการเป็นที่นิยมมากจน Freddie Laker ได้รับความชื่นชมจากประชาชน และได้รับแต่งตั้งเป็นท่านเซอร์

          ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอนเมื่อสายการบิน British Airways และ Pan Am ทำอย่างเดียวกันบ้าง และแข่งขันกันหนักจนสายการบิน Lakers ต้องปิดตัวลงในปี 1982

          เมื่อมีผู้บริโภคซึ่งมีอำนาจซื้อแตกต่างกันและต้องการบริการการบินที่หลากหลายชนิด ยุคโลว์คอสต์แอร์ไลน์ก็เกิดขึ้นจริงจังเมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาลดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ลงเพื่อความสะดวกในการเข้ามาแข่งขัน (deregulate) สายการบินโลว์คอสต์เกิดขึ้นมากมายในทศวรรษ 1980-1990 โดยเฉพาะเป็นที่นิยมอย่างมากในต้นทศวรรษที่ 21

          ทำไมถึงบินราคาถูกได้อย่างแตกต่างจากสายการบินธรรมดา? คำตอบมีดังต่อไปนี้ (1) ใช้เครื่องบินชนิดเดียวของบริษัทเดียวเพื่อให้มีต้นทุนต่ำในการบำรุงรักษา หากมีของหลายบริษัทและหลายรุ่น ก็ต้องมีช่างจำนวนมาก เพราะแต่ละคนเชี่ยวชาญในแต่ละชนิดของเครื่องบิน

          เมื่อก่อนนี้อาจใช้เครื่องบินเก่า เช่น McDonnell 11 / Douglas DC-9 หรือรุ่นเก่าของ Boeing 737 แต่ตั้งแต่ปี 2000 สายการบินโลว์คอสต์นิยมใช้เครื่องบินใหม่ Airbus A 320 หรือตระกูล Boeing 737 ใหม่เป็นที่นิยมมาก เพราะมีประสิทธิภาพสูง ประหยัดน้ำมันและบำรุงรักษาง่าย

          บางสายการบินถ้ามีเงินมากก็ร่วมกันสั่งซื้อครั้งเดียวหลายลำเพราะได้ส่วนลดมาก และหลังจากนั้น 2-3 ปีก็ปล่อยบางลำออกขาย ได้กำไรมาช่วยในการลดต้นทุนได้มาก

          (2) เครื่องบินมีอุปกรณ์เครื่องมือน้อยชิ้นที่สุดตามที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัย (เครื่องทำกาแฟ เครื่องทำความเย็นแบบพิเศษเพื่อเก็บอาหารไม่จำเป็น) เพื่อลดต้นทุนการดูแลรักษาและลดน้ำหนักเครื่องบิน (ยิ่งหนักยิ่งกินน้ำมัน)

          บางสายการบินโหดขนาดที่นั่งเอียงไม่ได้ ไม่มีกระเป๋าใส่ของหลังเก้าอี้ ไม่มีม่านตรงหน้าต่างเพื่อลดต้นทุนการดูแลและรักษาความสะอาด และหลายสายการบินไม่มีเพลง ภาพยนตร์และ โทรทัศน์ให้ดู

          (3) พยายามให้บินอยู่ในอากาศให้นานและบ่อยเที่ยวที่สุดอย่างชนิดก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนผู้โดยสาร สินค้า (หากมี) สัมภาระอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญก็คือต้องตรงเวลาทั้งเข้าและออกเพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการ

          โลว์คอสต์แอร์ไลน์จะไม่อ้อยอิ่ง คอยผู้โดยสารที่ยังเพลินอยู่กับการช๊อปปิ้ง หรือนั่งกินอาหารอย่างชิล ๆ เครื่องบินจะไม่เคลื่อนไหวแบบปลาวาฬ คอ่ย ๆ ไต่เพดานบินช้า ๆ เพื่อความสบายของผู้โดยสาร หากจะบินออกและเข้าอย่างหวือหวาเรียกว่าทันใจผู้โดยสารหัวใจวัยรุ่น (เช่นผู้เขียน)

          (4) เมื่อเป็นโลว์คอสต์ก็ต้องทำให้ต้นทุนต่ำจริง ๆ ดังนั้นพนักงานจึงทำงานกันหลายลักษณะ บางสายการบินในต่างประเทศพนักงานบินบนเครื่องต้องช่วยทำความสะอาดเครื่องบินเมื่อเครื่องลงจอดและรอผู้โดยสารชุดต่อไป หรือเป็นพนักงานตรวจบัตรบนพื้นดิน เมื่อเสร็จก็ขึ้นมาทำงานบนเครื่องด้วย (บางสายการบินเล็ก ๆ ในต่างประเทศเคยเห็นกัปตันเป็นคนโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องด้วย)

          การมีฐานปฏิบัติการขนาดเล็กกระจายอยู่หลายแห่งโดยไม่มีแห่งเดียวแบบสายการบินปกติทำให้ต้นทุนลดลง บางสายการบินสร้างอาคารผู้โดยสารเองด้วยเพื่อจักได้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นไปตามความต้องการของสายการบิน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดต้นทุน

          (5) การทำให้หลายอย่างง่ายไม่ยุ่งยากก็สามารถลดต้นทุนได้เช่นกัน การกำหนดค่าตั๋วอย่างไม่ซับซ้อน เช่น ราคาขาไปและกลับเท่ากัน บางสายการบินไม่โอนกระเป๋าข้ามเที่ยวบินถึงแม้จะเป็นสายการบินเดียวกันก็ตาม การมีสนามบินที่รวมสายการบินราคาถูกไว้ด้วยกัน เช่น กัวลาลัมเปอร์ ดอนเมือง ฯลฯ สามารถลดต้นทุนในเรื่องการขึ้นลงโดยหนีการจราจรที่คับคั่ง ค่าธรรมเนียมลงจอดและอัตราค่าจอดบนรันเวย์ก็ถูกกว่า

          (6) พยายามหารายได้ให้มากที่สุด เช่น จากการขายของบนเครื่อง เก็บค่าธรรมเนียมใช้ผ้าห่มหรือหมอน กระเป๋าติดตัวขึ้นเครื่อง ฯลฯ ดังเช่นที่สายการบินยุโรปปฏิบัติกัน อย่างไรก็ดีเท่าที่ทราบยังไม่มีสายการบินใดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ห้องน้ำ (แบบหนักหรือเบาในราคาต่างกัน โดยมีการตรวจพิสูจน์ด้วยก็ยังไม่เกิดขึ้น)

          โดยสรุปก็คือต้องทำให้ต้นทุนต่ำสุดเท่าที่จะทำได้โดยผู้โดยสารมั่นใจในความปลอดภัยและมีคุณภาพของบริการสมราคา อีกทั้งหารายได้ให้มากที่สุดโดยไม่ให้ดู “เกินไป” สำหรับสังคมไทย

          โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบโลว์คอสต์ และบินบางสายการบินที่เชื่อว่าปลอดภัยอยู่เป็นประจำ ชอบในการตรงต่อเวลา ไม่อุ้ยอ้ายเป็นเรือเกลือ แต่ที่ไม่ชอบมาก ๆ ก็คือการยกเลิกเที่ยวบิน (เดาว่าผู้โดยสารน้อยเลยเอามารวมกัน สไตล์โรงฉายหนังสมัยโบราณ) หรือบางครั้งเลื่อนเที่ยวบิน

          ที่ไม่ชอบที่สุดคือการโฆษณาในสื่อว่าราคาถูกเท่านั้นเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว แพงกว่านั้นมาก ในบางประเทศถือว่าผิดกฏหมาย และไม่ให้ทำด้วยซ้ำ (บ้านเราถ้าการคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็งก็เชื่อว่าทำไม่ได้)

          ถ้าเรารู้สึกแอนตี้และไม่เชื่อถือสายการบินในเรื่องราคาเพราะรู้ว่าหลอกลวง แล้วเราจะมั่นใจว่าเมื่อบินแล้วจะปลอดภัยได้อย่างไร อย่าลืมว่าหัวใจของธุรกิจการบินคือความปลอดภัย ดังนั้น ความตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม จะทำให้อยู่ได้นานเท่านาน

          ถ้ายอมรับวลี “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ยามเมื่อบินโลว์คอสต์ก็จะทำใจได้ อยากได้ของถูกก็ต้องมีความรำคาญและการเสียสละความสบายบางอย่างบ้างเป็นธรรมดา